跳至主要內容
:::
~
~

ศูนย์บัญชาการป้องกันโรค ได้แถลงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการแรงงานอย่างเหมาะสมและความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จะอนุญาตให้ย้ายแรงงานต่างชาติไปทำงานในสถานที่ทำงานของนายจ้างรายเดียวกันได้ตามปกติ สำหรับงานที่เป็นส่วนขยายเพิ่มเติมจากงานเดิม (เช่น นายจ้างจัดส่งแรงงานต่างชาติไปทำงานยังสถานที่ทำงานของลูกค้าตามสัญญา) นั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติ และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการติดเชื้อขึ้น จึงยังไม่อนุญาตเป็นการชั่วคราว แต่จะพิจารณาตามสถานการณ์แพร่ระบาดเพื่อทำการปรับเปลี่ยนในอนาคตต่อไป ศูนย์บัญชาการฯ อธิบายว่า เมื่อทำการประเมินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป อนุญาตให้สามารถย้ายสถานที่ทำงานของแรงงานต่างชาติได้ตามปกติ โดยหากนายจ้างเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ จะสามารถโยกย้ายแรงงานต่างชาติที่ทำงานติดต่อกัน 60 วันขึ้นไปต่อครั้ง แต่จะห้ามโยกย้ายหากยังทำงานอยู่ในสถานที่ทำงานเดิมไม่ครบ 60 วันต่อครั้ง : 1. จัดให้แรงงานต่างชาติเข้ารับการตรวจปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (ต่อไปนี้จะเรียกว่า PCR) โดยผลตรวจ PCR เป็นผลลบ : หากเป็นผู้ที่ต้องขออนุญาตการย้ายสถานที่ทำงานกับกระทรวงแรงงาน (เช่น ธุรกิจก่อสร้าง) จะต้องจัดให้แรงงานต่างชาติเข้ารับการตรวจ PCR ภายในเวลา 3 วันก่อน (รวม) วันยื่นขออนุญาต และผลตรวจ PCR ต้องเป็นลบ จึงจะสามารถยื่นขออนุญาตกับกระทรวงแรงงานได้ นอกจากนี้ สำหรับกิจการในประเภทอื่นที่ไม่ต้องอนุญาตการย้ายสถานที่ทำงานกับกระทรวงแรงงาน จะต้องจัดให้แรงงานต่างชาติเข้ารับการตรวจ PCR ภายในเวลา 3 วันก่อน (รวม) วันที่ย้ายสถานที่ทำงาน และผลตรวจ PCR ต้องเป็นลบ จึงจะสามารถย้ายสถานที่ทำงานได้ และก่อนการย้ายจะต้องส่งรายงานผลการตรวจ PCR ให้กับหน่วยงานแรงงานท้องถิ่น เพื่อใช้อ้างอิงในภายหลังต่อไป 2. นายจ้างต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค: หากผลการตรวจ PCR ของแรงงงานต่างชาติเป็นผลบวก นายจ้างจะต้องทำตามหน้าที่ของนายจ้างให้ดีที่สุด และให้ปฏิบัติตาม “แนวทางปฏิบัติสำหรับนายจ้างในการว่าจ้างแรงงานต่างชาติช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ในส่วนของข้อควรปฏิบัติในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และการออกนอกเคหสถานของแรงงานต่างชาติ” โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขในการจัดให้แรงงานต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือส่งตัวไปยังสถานกักกันโรค พร้อมทั้งดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยยืนยันที่เป็นโรคโควิด-19 และระเบียบปฏิบัติหลังพ้นจากการกักตัวรักษาและการแยกกักตัวต่อไป โดยหากผลการตรวจ PCR ของแรงงานต่างชาติเป็นลบ นายจ้างจะสามารถย้ายสถานที่ทำงานของแรงงานต่างชาติได้ แต่นายจ้างยังคงต้องปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังด้วยการตรวจสอบสุขภาพและบันทึกการเข้าออกสถานที่ทำงานของแรงงานต่างชาติทุกวัน ศูนย์บัญชาการฯ ยังอธิบายอีกว่า หากนายจ้างย้ายสถานที่ทำงานของแรงงานต่างชาติที่ทำงานติดต่อกัน 60 วันขึ้นไปต่อครั้ง แต่ไม่ได้จัดให้แรงงานต่างชาติเข้ารับการตรวจ PCR หรือไม่ได้จัดส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานแรงงานท้องถิ่นเพื่อใช้อ้างอิงในการตรวจสอบ จะถูกลงโทษตามกฎหมายการจ้างงาน มาตรา 57 อนุมาตราย่อย 4 และมาตรา 68 อนุมาตรา 1 โดยให้มีโทษปรับเป็นเงินตั้งแต่ 30,000 เหรียญไต้หวันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 150,000 เหรียญไต้หวัน หากฝ่าฝืนตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป จะถูกยกเลิกใบอนุญาตการจ้างงานและถูกควบคุมจำนวนการว่าจ้างแรงงานต่างชาติ นอกจากนี้ หากนายจ้างมอบหมายให้บริษัทจัดหางาน มาเป็นผู้ดูแลชีวิตประจำวันของแรงงานต่างชาติ และบริษัทจัดหางานละเลยการปฏิบัติตามหน้าที่ จนทำให้เกิดการฝ่าฝืนมาตรการด้านการป้องกันโรคตามที่ระบุไว้ข้างต้น บริษัทจัดหางานจะถูกลงโทษตามกฎหมายการจ้างงาน โดยมีโทษปรับเป็นเงินตั้งแต่ 60,000 เหรียญไต้หวัน แต่ไม่เกิน 300,000 เหรียญไต้หวัน

  • วันที่ประกาศ :2021/08/12
  • วันที่อัพเดท :2021/08/15

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศูนย์บัญชาการควบคุมโรค ประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมเป็นต้นไป ผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันภายในประเทศต่ำกว่า 50 รายติดต่อกัน ดังนั้น เพื่อเป็นดูแลความต้องการจ้างงานของอุตสาหกรรมภายในประเทศและสิทธิประโยชน์ในการทำงานของแรงงานต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. เป็นต้นไป อนุญาตให้แรงงานต่างชาติกลับมาโอนย้ายนายจ้างหรือเปลี่ยนงานได้ตามปกติ นายจ้างจะต้องจัดให้แรงงานต่างชาติตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ก่อนการรับโอนย้ายภายใน 3 วัน ส่วนการย้ายแรงงานไปทำงานในไซต์งาน หรือโรงงานสาขาของนายจ้างรายเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงปริมาณการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างชาติที่ค่อนข้างมากแล้ว ยังคงชะลอการปลดล็อกชั่วคราว ในอนาคตจะพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดและทบทวนมาตรการอีกครั้งหนึ่ง ศูนย์บัญชาการควบคุมโรค อธิบายว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ได้ประกาศให้แรงงานต่างชาติในภาคครัวเรือนกลับมาโอนย้ายได้ตามปกติ นายจ้างใหม่จะต้องดำเนินการให้แรงงานต่างชาติตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR ในช่วงที่ผ่านมานี้ เมื่อประเมินภาพรวมสถานการณ์ภายในประเทศและความต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม เป็นต้นไป อนุญาตให้แรงงานต่างชาติประเภทอื่นที่นอกเหนือจากภาคครัวเรือนกลับมาโอนย้ายนายจ้างได้ตามปกติ นายจ้างใหม่ที่รับโอนย้ายแรงงานต่างชาติระหว่างสัญญา (รวมถึงโอนย้ายหลังครบกำหนดสัญญา) จะต้องปฏิบัติตามคู่มือแนวทางปฏิบัติของนายจ้างที่กระทรวงแรงงานจัดทำขึ้น ดังนี้: 1. ดำเนินการให้แรงงานต่างชาติตรวจกรดนิวคลีอิกของเชื้อโควิด-19 (ต่อไปเรียกว่า PCR): นายจ้างใหม่ที่รับแรงงานต่างชาติเข้าทำงานจะต้องดำเนินการให้แรงงานต่างชาติตรวจ PCR ก่อนวันที่รับโอนย้ายระหว่างสัญญา (รวมถึงวันที่รับโอนย้ายหลังครบกำหนดสัญญา) ภายใน 3 วัน แต่ถ้าสถานพยาบาลในท้องถิ่นที่ทำงานไม่เปิดให้บริการตรวจเนื่องจากตรงกับวันหยุดหรือจำนวนโควตาผู้เข้าตรวจเต็ม สามารถยกเว้นให้ขยายระยะเวลาการตรวจ PCR ออกไปได้นับจากวันที่รับโอนย้ายต่อไปภายใน 3 วัน นายจ้างใหม่จะต้องจัดห้องพักให้ 1 คน ต่อ 1 ห้อง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยนายจ้างใหม่เป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมในการตรวจ 2. นายจ้างจะต้องจัดการมาตรการป้องกันโรคตามคู่มือแนวทางปฏิบัติ: หากแรงงานต่างชาติที่โอนย้ายระหว่างสัญญาตรวจ PCR แล้วผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 นายจ้างใหม่จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในการดำเนินการให้เข้ารับการรักษาหรือส่งตัวไปแยกกักและรักษาในสถานกักกันโรคตามคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับนายจ้างในการจ้างแรงงานต่างชาติช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19): ข้อควรปฏิบัติด้านการทำงาน การดำเนินชีวิต และการออกนอกเคหสถานของแรงงานต่างชาติ (ต่อไปนี้เรียกว่าคู่มือแนวทางฏิบัติสำหรับนายจ้าง) ที่กระทรวงแรงงานจัดทำขึ้น และตามเงื่อนไขการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยยืนยันและการพ้นจากการรักษาและการแยกกัก หากแรงงานต่างชาติที่โอนย้ายระหว่างสัญญามีผลตรวจ PCR เป็นลบ นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามคู่มือแนวทางปฏิบัติ โดยดำเนินการตรวจสอบอาการของแรงงานต่างชาติเป็นประจำทุกวัน, จดบันทึกไทม์ไลน์การเข้า-ออกสถานที่ของแรงงานต่างชาติ ศูนย์บัญชาการควบคุมโรค ระบุอีกด้วยว่า นายจ้างใหม่ที่รับแรงงานต่างชาติโอนย้ายระหว่างสัญญา (รวมถึงโอนย้ายหลังครบกำหนดสัญญา) หากไม่ดำเนินการให้แรงงานต่างชาติทำการตรวจ PCR ภายในระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น หรือช่วงระหว่างรอผลการตรวจ PCR ไม่จัดห้องพัก 1 คน ต่อ 1 ห้อง ให้แรงงานต่างชาติ เท่ากับฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 60,000-300,000 เหรียญไต้หวัน และจะไม่ออกใบอนุญาตรับโอนย้ายการจ้างงานให้ นอกจากนี้ หากนายจ้างมอบหมายให้บริษัทจัดหางานจัดการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ แล้วบริษัทจัดหางานไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรค เท่ากับบริษัทจัดหางานฝ่าฝืนกฎหมายการจ้างงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 60,000-300,000 เหรียญไต้หวัน

  • วันที่ประกาศ :2021/08/12
  • วันที่อัพเดท :2021/08/15

ตามที่ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายในประเทศยังไม่คงที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระให้ขีดความสามารถในการกักกันโรคของรัฐและทรัพยากรทางการแพทย์ ในช่วงมาตรการป้องกันโรคระดับ 3 จะยังคงดำเนินมาตรการ "ควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด" ต่อไป ซึ่งมาตรการควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด รวมถึงชาวต่างชาติที่ไม่มีใบถิ่นที่อยู่ (ARC) ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องชะลอการเดินทางเข้าประเทศชั่วคราว ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตในกรณีฉุกเฉินหรือด้านมนุษยธรรม งดผู้โดยสารแวะเปลี่ยนเครื่องที่ไต้หวันเป็นการชั่วคราว ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคจะทำการปรับเปลี่ยนมาตรการไปตามสถานการณ์และเวลาที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายในประเทศและการดำเนินการป้องกันโรคในชุมชน https://www.cdc.gov.tw/Bulletin/Detail/3iNNwroO0OrdsItewXo_GA?typeid=9

  • วันที่ประกาศ :2021/08/11
  • วันที่อัพเดท :2021/08/13

เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติปฏิบัติภารกิจในการป้องกันโรคและรับมือกรณีพนักงานเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการดังต่อไปนี้: 1. ให้สถานประกอบการปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด: "แนวทางปฏิบัติสำหรับนายจ้างในการจ้างแรงงานต่างชาติช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19): ข้อควรปฏิบัติด้านการทำงาน การดำเนินชีวิต และการออกนอกเคหสถานของแรงงานต่างชาติ" ฉบับแก้ไข วันที่ 21 มิถุนายน 2564 และให้บังคับใช้มาตรการตั้งแต่วันที่ออกประกาศดังนี้: (1) ขณะที่ยังไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงานหรือบางส่วนของโรงงานเกิดการแพร่ระบาด ควรจัดเตรียมห้องพัก 1 คน ต่อ 1 ห้อง พื้นที่ทำงานและพื้นที่ใช้สอยควรแบ่งกลุ่มและช่วงเวลาในการใช้งาน แรงงานต่างชาติในสายการผลิตเดียวกันควรพักในสถานที่เดียวกันและไม่ควรเปลี่ยนแปลงโดยพลการ ดำเนินการตรวจติดตามอาการสุขภาพทุกวัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญยืนยัน ติดตาม และส่งตัวผู้ที่สงสัยว่ามีอาการไปเข้ารับการตรวจและแยกกัก (2) หลังจากที่พนักงานในโรงงานมีผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ต้องตีกรอบรายชื่อผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดในที่ทำงานทันที และดำเนินการแยกกักในที่พักอาศัยโดยพักในห้องชุดที่มีห้องน้ำในตัว 2. เข้าเยี่ยมตรวจตราสถานประกอบการที่อาจมีความเสี่ยงสูง: กระทรวงแรงงานและเทศบาลท้องถิ่นได้เริ่มการเข้าเยี่ยมตรวจตราโดยมุ่งเป้าไปหอพักของอุตสาหกรรมที่การว่าจ้างแรงงานต่างชาติมากกว่า 50 คนขึ้นไป จำนวน 1,168 แห่ง การเข้าเยี่ยมตรวจตราเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 3. ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์มาตรการป้องกันโรค: จัดตั้งไลน์ "LINE@移點通" (1955 E-Line) เพื่อแจ้งข้อมูล, ประกาศข่าวสาร, เว็บไซต์คุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงาน, เฟซบุ๊ก 1955 และสถานีวิทยุในภาษาต่างๆ เรียกร้องให้แรงงานต่างชาติงดการเดินทางออกนอกเคหสถานที่ไม่จำเป็น เตือนให้แรงงานต่างชาติในภาคครัวเรือนพื้นที่เถาหยวน ซินจู๋ และเหมียวลี่ ระมัดระวังสังเกตอาการสุขภาพของตนเอง หากมีอาการหรือมีประวัติสัมผัส ให้รีบลงทะเบียนเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยเร็ว

  • วันที่ประกาศ :2021/08/11
  • วันที่อัพเดท :2021/08/13

ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคประกาศเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ประกาศว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายมากขึ้นไปทั่วโลกและมีความสามารถในการแพร่กระจายอยู่ในระดับสูง ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป (เวลาที่เดินทางถึงไต้หวัน) จะยกระดับมาตรการกักกันโรคผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างครอบคลุมทุกด้าน 1. มาตรการกักกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก "ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง" (มีประวัติการเดินทางมาก่อนภายในเวลา 14 วัน รวมถึงแวะเปลี่ยนเครื่องด้วย) นับตั้งแต่เดินทางเข้าสนามบินหรือท่าเรือแล้วจะต้องเข้ารับการกักกันในสถานกักกันโรคเป็นเวลา 14 วัน และจะต้องให้ความร่วมมือขณะพักอาศัย หลังจากครบกำหนดกักตัวต้องดำเนินการตรวจ PCR ผู้โดยสารไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมในการกักกันและการตรวจเชื้อ ปัจจุบัน "ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง" ได้แก่ บราซิล (สายพันธุ์กลายพันธุ์บราซิล) และอินเดีย รวมทั้งประเทศที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ อังกฤษ, เปรู, อิสราเอล, อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ รวมทั้งสิ้น 7 ประเทศ 2. ผู้ที่มีประวัติการเดินทางมาจากประเทศอื่นนอกเหนือจาก 7 ประเทศที่กล่าวข้างต้น หลังจากเดินทางเข้าประเทศแล้วจะต้องเข้าพักในโรงแรมสำหรับกักกันโรคหรือสถานกักกันโรคโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง เป็นเวลา 14 วัน และก่อนที่จะครบกำหนดกักตัวจะต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจ PCR

  • วันที่ประกาศ :2021/08/11
  • วันที่อัพเดท :2021/08/13